วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

นักระบำใต้น้ำ

นักระบำใต้น้ำ กีฬาแห่งการผสมผสาน

“สกาวรัตน์”


แม้ว่าในครั้งแรกการเป็น “นักกีฬาระบำใต้น้ำ”ของ นันทญา พลเสน ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความชอบ ทว่าเมื่อได้สัมผัสก็เกิดความรู้สึกรักจนเกิดประกายฝันก้าวเดินบนเส้นทางนี้แบบเต็มตัว ในระยะเวลา 7 ปีจนในที่สุดได้เป็นนักกีฬาระบำใต้น้ำระดับประเทศสังกัดนักกีฬาสโมสรระบำใต้น้ำกรุงเทพฯ

นักระบำใต้น้ำวัย 18 ปี เล่าว่า แรก ๆ เรียนว่ายน้ำอย่างเดียว แต่มาวันหนึ่งแม่ของเพื่อนรุ่นน้องที่เรียนโรงเรียนเดียวกันแนะนำคุณแม่ให้พามาฝึกระบำใต้น้ำกับ ครูญาณินี จาตุรงค์กุล เรียนได้สองปีมีโอกาสไปแข่งขันรายการมาเลเซีย โอเพ่น แชมเปี้ยนชิพ 2000 ที่มาเลเซียได้รางวัลชนะเลิศ กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คิดฝึกระบำใต้น้ำแบบจริงจังและมีโอกาสแข่งขันรายการแข่งขันประชัน ฝีมือระบำใต้น้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศ กระทั่งปี 2544 ติดทีมชาติไปแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่ประเทศมาเลเซีย แม้ไม่ได้เหรียญใดแต่เป็นประสบการณ์ยิ่งใหญ่ไม่น้อย


นันทญาว่า การเป็นนักกีฬาระบำใต้น้ำ ต้องแบ่งเวลาทั้ง ให้การเรียนที่โรงเรียนราชินีควบคู่ไปกับการฝึกซ้อม ให้ลงตัวแรก ๆ จะเหนื่อยท้อบ้าง แต่ในวันนี้เต้นระบำใต้นำมาเกือบแปดปีทำให้หยุดไม่ได้ ต้องก้าวเดินต่อไปแล้วความตั้งใจฝึกซ้อมอย่างหนักไม่ทำให้ผิดหวังล่าสุดคว้าเหรียญทองประเภทคู่ร่วมกับสุทธินิศา แจ้งจันทร์ และเหรียญเงินประเภทเดี่ยวในการแข่งขันระบำใต้น้ำในรายการไชน่า ซิงค์โครไนซ์ สวิมมิ่ง แชมเปี้ยนชิพ 2006 ที่ประเทศจีนโดยมีมิสหวัง ลุ่ย หัว โค้ชชาวจีนฝึกซ้อมให้





“ทุกวันนี้หนูพูดได้เต็มปากว่าอยากทำหน้าที่นี้ต่อไป เพราะหนูเดินทางมาครึ่งทางแล้วก็ต้องทำต่อไปเรื่อย ๆ อนาคตตั้งใจหวังระดับโอลิมปิก และตั้งใจจะเป็นโค้ชสอน ระบำใต้น้ำเพราะหนูเลือกมาทางนี้แล้ว ระบำใต้น้ำมีความสุขความภูมิใจเวลาที่ทำได้แล้วได้ยินเสียงปรบมือจากคนดู ส่วนคนดูก็เห็นความสวยงามของท่าทางนักระบำใต้น้ำด้วย กีฬาประเภทนี้มีหลายอย่างผสมผสานกันทั้งยิมนาสติก การว่ายน้ำ เต้นระบำดนตรีเข้ามาผสมผสานกันและใครก็ทำได้หากตั้งใจจริง ที่หนูสนใจด้านนี้เพราะรู้สึกว่าว่ายน้ำต้องแข่งขันเพื่อชิงความเป็นหนึ่งด้วยการแตะขอบสระส่วนระบำใต้น้ำมีหลายอย่างประกอบกันค่ะ” นันทญาย้ำถึงความมุ่งมั่นในการเป็นนักกีฬาระบำใต้น้ำ. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น